ยังรออย่างมีความหวัง

“งานช่วยชีวิตกรณีถ้ำหลวง ส่วนที่ยากและซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ เหมืองถล่มที่ชิลี

คือสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตก ภูเขาสูงชัน กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานทุกมิติ...” #พาทีมหมูป่ากลับบ้าน

 

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์นี้เป็นคืนวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย. เป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังติดตามปฏิบัติการช่วยเหลือน้องทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิตอย่างใกล้ชิด ทีมกู้ภัยจากทุกแห่งหนกำลังทำงานกันอย่างเต็มกำลัง แม้แต่พระครูบาบุญชุ่มเกจิแห่งล้านนา ท่านยังทำพิธีกรรมสร้างขวัญและกำลังใจให้อย่างเต็มที่ พิสูจน์ว่าคนไทยไม่ว่าจากไหนไม่เคยทิ้งกัน เหตุการณ์ถ้ำหลวงนี้ทำให้ผมย้อนคิดถึงเหตุการณ์เหมืองทองแดงถล่มที่ชิลีเมื่อหลายปีก่อน

วันที่ 5 ส.ค. 2553 เหมืองทองแดงกลางทะเลทรายอาตากามา เมืองซานโฮเซ ประเทศชิลี ถล่มปิดทางเข้าออกขณะที่มีคนงาน 33 คนติดอยู่ใต้ดิน ลึกลงไปถึง 700 เมตร ขาดการติดต่อทุกรูปแบบ ไม่มีใครภายนอกรู้ได้ว่าสถานการณ์ใต้เหมืองเป็นตายร้ายดีอย่างไร ทีมกู้ภัยถึงแม้จะมีความหวังริบหรี่ ได้เริ่มเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว จากด้านบนลงสู่ตำแหน่งที่คาดว่าอาจพบผู้รอดชีวิต ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าเครื่องเจาะจะทะลุลงไปถึงเหมืองใต้ดิน แต่ก็โชคร้ายที่รูเจาะแรกไม่ได้ทะลุลงไปในตำแหน่งที่คนงานทั้ง 33 ติดอยู่ แต่ทีมงานก็ไม่ได้ละความพยายาม ได้เจาะพร้อมกันอีกหลายตำแหน่ง แต่ด้วยข้อจำกัดที่เป็นหินแข็ง ทั้งเจาะยาก ทั้งลึกมาก ยิ่งไปกว่านั้นชิลีอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว ยิ่งเสี่ยงอันตรายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณแต่แล้วในที่สุดตำแหน่งรูเจาะหนึ่งได้ทะลุถึงแนวใกล้เคียงผู้รอดชีวิต เมื่อทุกคนได้ยินเสียงเจาะ จึงเข้าหาตำแหน่งเจาะทะลุ และส่งข้อความแห่งความหวังกลับขึ้นมาว่าเราทุกคนปลอดภัย (กลุ่ม 33) จากวินาทีนั้น ทั้งเสบียง อุปกรณ์ดำรงชีพ แม้กระทั่งคลิปวิดีโอจากครอบครัวที่ให้กำลังใจถูกส่งลงไปตามรูเจาะนี้ สร้างพลังกาย พลังใจ ให้กลุ่ม 33 จนในที่สุดทีมช่วยเหลือได้ขุดเจาะหลุมเพื่อส่งแคปซูลช่วยชีวิตลงไปถึงใต้เหมือง นำทั้ง 33 ชีวิตขึ้นมาได้โดยปลอดภัยทุกคน แม้ต้องติดอยู่ใต้ดินถึง 69 วันก็ตามจากวันที่ 23 มิ.ย. คนไทยใจจดจ่อถึงน้องทีมหมูป่าทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง หากเปรียบเทียบกับกรณีเหมืองชิลีถล่ม ทำให้เรายิ่งมีความหวัง โดยการช่วยชีวิตกรณีถ้ำหลวงมีทั้งง่ายและยากกว่ากรณีชิลี ที่ง่ายกว่าคือยังมีปากถ้ำให้เข้าไปช่วยเหลือ แม้น้ำจะท่วมสูง แต่ก็กำลังสูบลดระดับน้ำเต็มกำลัง ต่างจากเหมืองชิลีที่ทางเข้าออกถล่ม หมดสิทธิเข้าไปช่วยได้ จึงต้องเจาะหินลงไปถึง 700 เมตร เพื่อช่วยเหลือวิธีเดียวเท่านั้น อีกทั้งสภาพทางธรณีวิทยาของถ้ำหลวงส่วนใหญ่เป็นหินปูนจึงอ่อนกว่าหินอัคนีที่เหมืองชิลี ขณะที่งานช่วยชีวิตกรณีถ้ำหลวงจะยากและซับซ้อนกว่า คือ สภาพภูมิอากาศที่มีฝนตก กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานทุกมิติ ขณะที่เหมืองชิลีแห้งสนิท เป็นปกติของภูมิอากาศทะเลทราย อีกทั้งการขุดเจาะรูถ้ำเพื่อส่งอาหาร อุปกรณ์สื่อสาร แสงสว่าง ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่หาตำแหน่งเจาะที่เหมาะสมได้ยาก ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา การลำเลียงหัวเจาะขึ้นไปก็ยาก ติดตั้งก็ลำบาก ถึงแม้ว่าปฏิบัติการช่วยชีวิตจะยากสักเพียงใด ผมมั่นใจว่าทีมกู้ภัยไม่มีย่อท้อ ให้คิดถึงกรณีเหมืองชิลีที่ยากแสนสาหัส ก็ยังสำเร็จได้ เช่นเดียวกับกรณีอื่นอีกมากมายทั่วโลก ผมเช่นเดียวกับคนไทยทั้งชาติขอส่งกำลังใจให้ทีมกู้ภัยพาน้องทีมหมูป่าทั้ง 13 คน กลับบ้านโดยปลอดภัยครับ

https://www.posttoday.com/social/think/556346

 GOOGLE TRANSLATE TO JAPANESE

ข่าวจาก : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

จำนวนเข้าชม : 7316