พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

 

 

          พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช พระราชสมภพเมื่อ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ฉศกจุลศักราช ๑๑๖๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระ ศรีสุริเยนทราบรมราชินี ณ พระราชวังเดิม พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๙ พรรษา (พ.ศ. ๒๓๕๖) สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีลงสรงเป็นครั้งแรก ในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ดำรงพระราชเกียรติยศรับพระราชทานพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์พงศ์อิศวร กษัตริย์ วรขัตติยราชกุมาร" ปรากฏตามอเนกนิกรชนสมมติ เรียกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่"

 

          ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ (พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา ทรงผนวชมาได้ ๒๗ พรรษา) พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้เข้ากราบถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สืบพระราช สันติวงศ์ รัชกาลที่ ๔ โดยมีพระราชปรมาภิไธยโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง พระมหากษัตริย์กับ อาณาประชาราษฎร ให้เข้ากับกาลสมัยในรูปใหม่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ ทรงอยู่ในสมณเพศนานถึง ๒๗ พรรษา ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นโอกาสให้ทรงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ โดยแท้จริงของ ราษฎรส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง

 

          นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง และเป็นการเตรียมพระองค์เพื่อปกครองบ้านเมืองในอนาคต เป็นอย่างดี ประกอบกับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แผ่ขยายมายังประเทศใกล้เคียงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และในทวีปเอเซีย ทำให้พระองค์ทรง ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสยาม จะต้องยอมรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก และเร่งปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันด้วยพระบรมราโชบายที่มีทรรศนะไกล และด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ คือ    

 

1. ด้านการต่างประเทศ    

2. ด้านการเสริมสร้างความมั่นคง และการป้องกันพระราชอาณาจักร

3. ด้านการปฏิรูปการปกครอง

4. ด้านการทำนุบำรุงอาชีพของราษฎร และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และการคลัง

5. ด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร

6. ด้านบำรุงศึกษาศาสตร์

7. ด้านพระราชพิธี ประเพณี ธรรมเนียม

8. ด้านพระศาสนา

9. ด้านการก่อสร้าง

 

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาสมัยใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทรงสนับสนุนงานริเริ่มจัดการศึกษาสมัยใหม่ โดยคณะมิชชั่นนารี อย่างดียิ่ง ทรง เป็น "องค์วิชาการ" ทรงใฝ่พระทัยศึกษาด้วยพระองค์เอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญาศาสนาต่างๆ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ใน พ.ศ.๒๔๑๑ ปรากฎว่า พระองค์ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วไป

 

ข่าวจาก : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

จำนวนเข้าชม : 49173