"ดึง ดึง ดึง สดือดึง ... ดึง ดึง ดึง สดือดึง ... ดึง ดึง ดึง สดือดึง" (ร้องให้เข้าทำนองหมอลำ)

"ดึง ดึง ดึง สดือดึง ... ดึง ดึง ดึง สดือดึง ... ดึง ดึง ดึง สดือดึง" (ร้องให้เข้าทำนองหมอลำ)

วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต’ ทลายขีดจำกัดเพลงพื้นถิ่น-ผสมผสานแนวเพลงป็อปฉลอง 60 ปี สจล. ร่วมสืบสานดนตรีพื้นบ้าน 4 ภาคของไทย ผ่านบทเพลง ‘สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม’ ดึงเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเพลงและดนตรีทุกขั้นตอน

ปัจจุบันเพลงไทยพื้นบ้านถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย ด้วยแนวเพลงป็อป (POP) ที่ได้รับความนิยมสูงและต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จึงมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยพื้นถิ่น 4 ภาค ที่นำเครื่องดนตรีท้องถิ่นมาผสมผสานกับแนวดนตรีสากล มาเป็นบทเพลงนำร่อง ภายใต้ชื่อ “สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม” ให้ทุกคนได้สนุกสนานกันในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ดนตรีพื้นบ้านของไทยถูกลืมเลือนและถูกแทนที่ด้วยดนตรีสากล ขณะเดียวกันดนตรีของไทยต้องปรับตัวทั้งคนทำเพลงและคนฟัง เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการเข้าถึง แนวเพลง เนื้อหา รวมถึงเพลงป็อป (POP) เป็นแนวเพลงที่มีคนฟังได้ทั้งประเทศ และไม่เคยตกยุคตกสมัยเหมือนแนวเพลงอื่นๆ จึงเป็นแนวทางให้วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ปรับปรุงดนตรีพื้นบ้านให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยนำแนวเพลงป็อป (POP) มาผสมผสานกับแนวดนตรีพื้นถิ่น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและแนวดนตรีพื้นบ้านของไทย จึงถือโอกาสที่ สจล. ฉลองครบรอบ 60 ปี ในปี 2563 โดยวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้จัดตั้งโครงการ “เผยแพร่ดนตรีไทยพื้นเมืองสู่สาธารณชน” ภายใต้แนวคิด KMITL GO BEYOND THE LIMIT ที่ต้องการสืบสารแนวดนตรีพื้นบ้าน 4 ภาคของไทยเข้ากับแนวดนตรีสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแนวเพลงป็อป (POP) เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัยกับเครื่องดนตรีสากล และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเพลงและดนตรีทุกขั้นตอนให้กับผู้ที่สนใจ

ทั้งนี้ ได้นำร่องแต่งเพลงแรกภายใต้ชื่อ “สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม” ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานเพลงระดับมืออาชีพโดยวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต และมีแดนซ์เซอร์ซึ่งเป็นนักศึกษาจากชมรมอีสาน สจล. มาร่วมสนุกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาเพลงสื่อไปในเชิงสร้างสรรค์และมีความสนุกสนานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวเพลงพื้นถิ่นอีสาน โดยผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ของแนวดนตรีไทยอีสานเหนือที่มีความโดดเด่นในทำนองเกริ่นและท่วงทำนองแบบกาฬสินธุ์ แคนสารคาม และอีสานใต้ที่มีความโดดเด่นในท่วงทำนองของแนวเพลงกันตรึมที่มีความสนุกสนาน ด้วยการนำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น ซอ พิณ และแคน มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล ซึ่งสามารถก้าวข้ามความแตกต่างของดนตรีได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม เพลงดังกล่าวมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ผ่านช่องทางยูทูป เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่นี้

“คำว่าสดือดึงนั้นมาจากเสียงของสายดึงว่าวและการดีดไห ส่วนคำว่าโจ๊ะพรึมพรึม เป็นคำของเพลงกันตรึมของอีสานใต้ และเมื่อนึกถึงบรรยากาศและกิจกรรมที่สนุกสนานของหนุ่มสาวของพี่น้องชาวอีสาน จะพบว่าเป็นบรรยากาศของงานรื่นเริง เพลงหมอลำงานวัด จึงเป็นที่มาของเนื้อเพลงดังกล่าว ในส่วนของนักร้องทั้งชายและหญิงเป็นผู้ที่มีความรู้เชิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นอย่างยิ่ง และมีความสามารถในการร้องเป็นอย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงสดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม” ผศ.ดร.พิทักษ์ กล่าว

https://www.facebook.com/kmitlofficial/posts/2763035490424385?__tn__=K-R

 

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 4973