สจล.โชว์แอพพลิเคชั่น TAXI OK สร้างมิติใหม่ TAXI ไทย สะดวก ปลอดภัย

สจล.โชว์แอพพลิเคชั่น TAXI OK

สร้างมิติใหม่ TAXI ไทย สะดวก  ปลอดภัย 

 สจล. จับมือ กรมการขนส่งทางบก รุกแก้ปัญหาแท็กซี่ไทย เจาะลึกรูปแบบการทำงานแอพพลิเคชั่น “TAXI OK” พร้อมชูฟังก์ชั่น “ปุ่มฉุกเฉิน” กดทันทีเมื่อเกิดเหตุร้าย พลิกโฉม บริการแท็กซี่ในประเทศไทย

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ร้องเรียนการให้บริการของแท็กซี่ในประเทศไทย ซึ่งปรากฎเป็นข่าวร้องเรียนตามสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ได้กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐและสถาบันการศึกษา ร่วมกันหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ชื่อว่า “TAXI OK” สำหรับยกระดับการให้บริการแท็กซี่แก่กรมการขนส่งทางบก โดยเพิ่มการติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก หรือ จีพีเอส เพื่อควบคุมกำกับความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ และเพื่อบริหารจัดการระบบเดินรถให้อันเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีขึ้น โดยการทำงานของแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 7 ด้านสำคัญ คือ 1.ระบบจัดการภาพนิ่ง 2.ระบบแสดงตำแหน่งรถแท็กซี่ 3.ระบบแสดงความต้องการใช้แท็กซี่ 4.ระบบร้องเรียนและแจ้งเหตุฉุกเฉิน 5.ระบบตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ 6.ระบบจัดการและประเมินศูนย์แท็กซี่เอกชน และ 7.ระบบจัดการและประเมินพนักงานขับรถ

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นจะนำมาใช้กับแท็กซี่มิเตอร์ทุกคัน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีรถแท็กซี่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ยอดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 ทั้งสิ้น 92,829 คัน ถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการให้บริการของแท็กซี่ในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก อาจมีการควบคุมได้บ้างในส่วนของผู้ประกอบการ ที่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีแอพพลิเคชั่นในการให้บริการ แต่สำหรับแท็กซี่ทั่วไปยังไม่มีการติดตั้งระบบที่ว่านี้ จึงยากในการควบคุมมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย ต่างจากในหลายๆ ประเทศ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งหากเจาะลึกรายละเอียดและรูปแบบการทำงานของแอพพลิเคชั่น ที่พัฒนาสำหรับแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบกนั้น หลักการทำงานจะเชื่อมโยงข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนของผู้โดยสาร ไปยังรถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking และแอพพลิเคชั่น TAXI OK ซึ่งสามารถเรียกรถแท็กซี่ได้ทุกสหกรณ์ จากนั้นข้อมูลจากรถแท็กซี่จะถูกส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการย่อยของแต่ละสหกรณ์ที่สังกัดอยู่ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบกอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการเชื่อมต่อของระบบผ่านเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินรถ จะช่วยให้สามารถส่งค่าตำแหน่งพิกัดการเดินรถ ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ การแสดงตนของผู้ขับขี่ รายงานค่ามิเตอร์ และข้อมูลการจองรถ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับปุ่มเปิดปิดสถานะไฟว่าง กล้องบันทึกภาพซึ่งจะมีการบันทึกภาพทุก 1 นาที และปุ่มฉุกเฉินรายงานเหตุฉุกเฉินแบบเรียลไทม์

 

“ภาพรวมการพัฒนาแท็กซี่ในประเทศไทยทั้งระบบ จำเป็นต้องมีมาตรการให้ผู้ประกอบการติดตั้งจีพีเอสและอุปกรณ์ต่างๆ ในรถแท็กซี่ โดยเฉพาะเครื่องอ่านการ์ดสำหรับรายงานตัวผู้ขับรถ รวมถึงการแก้ปัญหาอื่นๆ อาจต้องพิจารณาการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ และปุ่มกดฉุกเฉิน หรือ Emergency Push Button ซึ่งใช้ได้ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ในการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายเพื่อการเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แท็กซี่ไทยไม่เคยนำมาใช้ แต่เป็นรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ควบคุมและได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G ไปยังศูนย์ควบคุม ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้คาดว่า กรมการขนส่งทางบก กำลังทบทวนการออกประกาศ ให้แท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้งในเร็วๆ นี้ ส่วนแท็กซี่เก่าทั้งที่ไม่เคยติดตั้งหรือติดตั้งระบบคล้ายกันนี้ แต่ไม่เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจะอนุโลมให้เข้ามาติดตั้งภายใน 2-3 ปี อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากทำได้ตามแผนงานที่วางไว้เชื่อว่าจะช่วยให้การควบคุม และป้องกันปัญหาต่างๆ ทั้งการไม่รับผู้โดยสาร การขับรถออกนอกเส้นทาง มิเตอร์โกงราคา หรือทะเลาะวิวาท และการคุกคามทางเพศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารแท็กซี่นั้น นอกจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว ยังต้องทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดจากกรณีผู้โดยสารถูกไล่ลงจากรถกลางทางหรือโดนคุกคามทางเพศ ได้นำมาซึ่งการเรียกร้องให้หน่วยงานรับผิดชอบอย่าง กรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการในการคัดกรองหรือตรวจสอบผู้ที่จะมาขับแท็กซี่ เนื่องจากหลายกรณีเมื่อเกิดปัญหาและปรากฎเป็นข่าว พบว่าผู้ขับแท็กซี่บางคนมีพฤติกรรมไม่ดีหลายครั้ง หรือมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมในการขับรถให้บริการประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงระบบการขึ้นทะเบียนคนขับแท็กซี่นั้นมีอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถคัดกรองหรือควบคุมได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากข้อจำกัดของระบบตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการให้เช่ารถแท็กซี่ก็ต้องการให้มีคนมาเช่ารถเพื่อเอาไปขับให้บริการ

ทั้งนี้ จากปัญหาข้างต้นขอเสนอแนวทางในการยกประสิทธิภาพ การตรวจคัดกรองระบบขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะมาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ นอกจากนี้การที่มีแอพพลิเคชั่นในการเรียกใช้บริการเดินทางในรูปแบบ ที่เรียกว่า Ride Sharing และได้รับความนิยมจากประชาชนในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อดีของการให้บริการในลักษณะนี้ คือการมีคุณภาพการให้บริการที่ดีกว่าในบางส่วน เช่น การไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร อย่างไรก็ดีรูปแบบการให้บริการแบบนี้ยังมีความเสี่ยง ในเรื่องของความปลอดภัยของทั้งรถยนต์ที่ให้บริการและผู้ขับขี่ที่อาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งในอนาคตคงต้องมีการออกกฎหมายมากำกับดูแลบริการประเภทนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของประเด็นดังกล่าว

ขณะที่ คุณสุวดี เฟื่องโคตร ผู้อำนวยการฝ่ายแท็กซี่สัมพันธ์ Grab กล่าวเสริมว่า แกร็บ เป็นผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานและผู้ขับขี่ครอบคลุมถึง 7 เมืองทั่วประเทศไทย โดยบริการแรกที่เปิดให้บริการก็คือบริการแท็กซี่ ซึ่งในปัจจุบันแกร็บมีกลุ่มฐานผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นและผู้ขับขี่จำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะมอบความสะดวกสบายและความคล่องตัวในการเดินทาง โดยให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยสูงสุด แกร็บมีความยินดีที่ทางภาครัฐมีแนวทางการพัฒนาในเรื่องดังกล่าว และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

                ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งสู่ 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน ภายในปี 2563 นั้น ได้ส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาผนวกองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อยกประสิทธิการบริหารจัดการและแก้ปัญหาด้านต่างๆ ภายในประเทศ โดยที่ผ่านมานอกจากส่งเสริมให้ภาควิชาวิศวกรรมโยธา พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาระบบขนส่งภายในประเทศอย่างยั่งยืนแล้ว ขณะเดียวกันยังได้ยกระดับภาควิชาให้เป็นหลักสูตรนานาชาติด้วย เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่แข็งแกร่งทั้งด้านวิชาการ ทักษะการปฏิบัติงาน การสื่อสารภาษาอังกฤษ ความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับประเทศชาติ ไปสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99/43646/-TAXI-OK-%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%88.html

 

 

http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9600000050070

 

 

http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/80956

 

 

https://isranews.org/isranews/56328-news-56328.html

 

 

http://www.1morenews.com/12726.html

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 7626