ปี61“รับสมัคร 5 รอบ”คัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย

 

 

ทปอ.ฟันธง ระบบรับสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยปี 61 มี5 รอบ รับด้วยแฟ้มสะสมงาน แบบโควตา รับตรงร่วมกัน แอดมิชชั่น และรับตรงอิสระ เน้นใช้ข้อสอบกลาง ย้ำ1คนมี1สิทธิ์

 

       เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2560 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 1/2560  ตอนหนึ่งว่าตนมายืนยันแก่ที่ประชุมทปอ. ว่าให้การสนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่งคณะทำงานที่ตนตั้งขึ้น โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหดิล เป็นประธานนั้น ได้มีการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ โดยเมื่อมีการจัดทำร่างฉบับดังกล่าวเสร็จแล้วจะต้องนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นรัฐบาลจะทำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป นอกจากนั้น ตนได้ขอให้ทางทปอ.รวบรวมข้อมูลการมีงานทำของบัณฑิตแต่ละหลักสูตร ว่ามีงานทำร้อยละเท่าไหร่ ทำงานตรงกับสาขาที่จบหรือไม่ ทำงานในภูมิภาคหรือไม่  รวมถึงสำรวจความพึงพอใจของนายจ้าง สถานประกอบการที่มีต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปิดหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความต้องการ  ทั้งนี้ สำหรับการรับสมัครแบบใหม่ของทปอ.นั้น ตนอยากย้ำนักเรียนที่ใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งที่จบหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย ไม่ต้องมาเทียบวุฒิที่กระทรวงศึกษาธิการ สามารถสมัครเข้าเรียนตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 

     ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมทปอ. ได้พิจารณาร่วมกันในการปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา2561  โดยหลักการในการรับสมัครจะยึดตามแนวทางดังนี้ 1.นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2. นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และ 3ใสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายทปอ.ทุกแห่งจะต้องเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน  และตัดปัญหาการกั๊กที่เรียนและความไม่เสมอภาพ เพราะที่ผ่านมานักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีมีสิทธิ์สมัครเรียนได้มากกว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน

 

     ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการทปอ. กล่าวว่า การรับสมัครในกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปีใหม่ ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2561 นี้ มีทั้งหมด 5 รอบ คือ รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)  โดยไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่ายให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับทางสถาบันอุดมศึกษา  โดยคาดว่าจะเริ่มเดือนต.ค.2560 รอบที่ 2  การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ สถาบันการศึกษาประกาศเกณฑ์การสอบ ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรง และเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์การสอบ

 

      รอบที่3 การรับสมัครตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนในโครงการ ,กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) ,โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป  โดยทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลางซึ่งเป็นจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อาทิ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) การทดสอบความถนัดทั่วไป(แกต) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต)  และ การทดสอบวิชาสามัญ9 วิชา เป็นต้น  ร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง โดยเกณฑ์ต่างๆ มหาวิทยาลัยต้องกำหนด และประกาศให้นักเรียนรับทราบ ซึ่งหากมีการจัดสอบต้องเป็นวิชาที่ไม่มีการจัดสอบในข้อสอบกลางและรอบที่ 4 การรับแบบ Admissions สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร สามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า 3 ปี และรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ สถาบันอุดมศึกษารับโดยตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง

 

      ทั้งนี้ การรับสมัครแบบใหม่นี้  นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและต้องการเข้าศึกษา ต้องทำการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาเพียง 1 ที่ ซึ่งหากอยากมีสิทธิ์เข้าร่วมในรอบถัดไป จะต้องสละสิทธิ์เดิมในสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเองสอบได้ก่อน เพื่อเป็นคืนสิทธิ์ และถ้าไปสมัครที่ใหม่โดยไม่มีการสละสิทธิ์ การสมัครครั้งถัดไป จะถือเป็นโมฆะทันที ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะมีการเขียนไว้ในระเบียบการรับสมัครอย่างชัดเจน ดังนั้น จะไม่มีการลักไก่ หรือสมัครสอบและมีที่นั่งในหลายมหาวิทยาลัย กันสิทธิ์ผู้อื่นอย่างที่ผ่านมา

 

         ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)นั้น ยืนยันจะเข้าร่วมระบบใหม่ดังกล่าว โดย มรภ. และมทร.จะเข้าร่วม 3 รอบแรก และรอบที่ 5 เนื่องจากมทร.มีการเปิดภาคเรียน ในช่วงเดือนมิ.ย.  โดยจะใช้ข้อสอบกลางและมีการเปิดสอบโดยกลุ่มมรภ. และมทร.จะเป็นผู้จัดสอบเองร่วมด้วย เพื่อให้ได้นักศึกษาตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว ทปอ.ได้ตระหนักถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนและผู้ปกครองตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้นักเรียนไมวิ่งรอกสอบ มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับตนเองมากขึ้น ไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ลดความเครียดให้นักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้ การใช้สัดส่วนคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรจบมัธยมศึกษาตอนปลาย(จีแพค)  โอเน็ต  และแกต/แพต จะยังเป็นไปตามประกาศล่วงหน้า 3 ปี คือในปีการศึกษา 2560-2562 ซึ่งทางทปอ.จะมีการพิจารณาในเรื่องกรอบระยะเวลาในการจัดสอบอีกครั้ง  รวมถึงรายละเอียดการจัดสอบ การรับนักศึกษาโดยมีเงื่อนไข ตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศให้รับทราบภายในเดือนเม.ย.2560 นี้

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 10126