สจล.เชื่อ ถ่านหินสะอาด ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ แต่ไม่มั่นใจระบบจัดการ

รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงกรณีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า แม้รัฐบาลได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมแนวทางป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนโดยรอบ ตามประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคัดค้านจากหลายฝ่ายไปแล้วนั้น ในทางปฏิบัติยังคงมีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงไม่น้อยไปกว่าประเด็นแรกคือ “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ระบุตามแผนงาน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าแต่ปล่อยมลพิษน้อยลง ได้จริงภายใต้บริบทการบริหารจัดการของประเทศไทยหรือไม่ เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ส่วนตัวเชื่อมั่นในเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะนำมาใช้ และ 2. การขนส่งถ่านหิน ค่อนข้างห่วงใยกระบวนการขนส่งซึ่งอาจกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวได้ หากระบบบริหารจัดการไม่รัดกุม

       

       “แน่นอนว่า แผนการนำเทคโนโลยีขั้นสูงกว่ามาใช้ จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ถ่านหินน้อยลงและลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติยังคงเกิดคำถามในแง่การบริหารจัดการว่า จะสามารถทำได้ตามแผน และมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเด็นการขนส่งถ่านหินทางเรือขนาดใหญ่ แม้จะมีการระบุปริมาณบรรทุก ความเร็วเดินเรือ รวมไปถึงรูปแบบการขนส่งแบบปิด แต่ด้วยภาพหลอนผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีต ทำให้ชาวบ้านและสังคมไทยยังคงหวาดกลัวและไม่มั่นใจ กระบวนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตจากเหตุไม่คาดฝัน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอาจช่วยเพิ่มความเข้าใจได้มากขึ้น” รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว

      

       รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อความเชื่อมั่นของชุมชนในพื้นที่และคนทั้งประเทศแล้ว อาจต้องชี้ให้ชัดเจนว่าการเสียสละของคนกระบี่ในการก่อตั้งโรงไฟฟ้า จะได้รับสวัสดิการหรือการสนับสนุนที่มากกว่าคนในพื้นที่อื่นหรือไม่ เช่น ให้ใช้ไฟฟรี หรือเพิ่มอัตราการใช้ไฟฟรีต่อเดือน เป็นต้น ขณะเดียวกันด้วยบริบทสังคมไทยในขณะนี้แม้เชื้อเพลิงถ่านหิน จะถูกมองว่าเหมาะสมในการนำมาผลิตไฟฟ้ามากที่สุด แต่หากมองในแง่การพัฒนาประเทศซึ่งกำลังก้าวสู่ยุค 4.0 เราอาจต้องมองถึงพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนควบคู่กันไป ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าพลังงานชีวมวล (Biomass) จากทะลายปาล์ม กาบและกะลามะพร้าว มีศักยภาพสูงพอสมควร แต่ต้องอาศัยการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นระบบ

รศ.ดร.จารุวัตร เจริญสุข หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่ง กฟผ. ระบุว่า นอกจากจะใช้ถ่านหิน ซับบิทูมินัส หรือ บิทูมินัส ซึ่งดีกว่า ลิกไนต์ ขณะเดียวกัน ยังใช้หม้อไอน้ำระบบเผาไหม้เทคโนโลยี Ultra Supercritical ซึ่งมีประสิทธิการเปลี่ยนพลังงานในถ่านหินเป็นไฟฟ้าถึง ร้อยละ 45 แต่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ร้อยละ 20 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่า Subcritical ที่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 33 - 37 ควบคู่ไปกับการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดมวลสาร ได้แก่ เครื่องควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) เครื่องควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) และอุปกรณ์ดักจับไอปรอท (ACI) โดยตามรายงานระบุว่าค่าควบคุม ฝุ่นละออง อยู่ที่ 30 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และ ออกไซด์ของไนโตรเจน 50 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร หากสามารถควบคุมได้ตามแผนดังกล่าวจริง ถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ไทยกำหนด ซึ่งไม่น่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

      

       ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในสถาบันการศึกษาของไทย และ สจล. เองก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนและห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเผาไหม้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเผาไหม้ด้วยเทคโนโลยี Ultra Supercritical แบบเดียวกับที่ กฟผ. จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งในแง่ของเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ การผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยี Subcritical แต่ลดการปล่อยมลพิษลงสามารถทำได้จริง แต่เนื่องจากภาพหลอนของสังคมไทยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่าการกลับไปทบทวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ควรให้หน่วยงานกลางเป็นผู้จัดทำเพื่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ

      

       “แม้ต่างประเทศจะมีให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยล่าสุด มีการยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ แต่ต้องไม่ลืมว่าภายใต้บริบทแวดล้อมของสองประเทศ ยังคงมีความแตกต่างในแง่กระบวนการมากพอสมควร ไม่เท่านั้นในแง่ของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อชุมชน ในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน โดยตามรูปแบบการตั้งกองทุนสำหรับพัฒนาด้านต่างๆ ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดของการนำกองทุนไปใช้พัฒนา คิดว่าต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง” รศ.ดร.จารุวัตร กล่าว

ที่มา : http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000026600

115/ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

News from : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์

Hit : 5721